ปรับทัศนคติ ‘ผู้บริหาร’ แก้ปัญหายางพารา 2560

เมื่อกลางดึกวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการเรียก 2 แกนนำชาวสวนยางพาราพัทลุงมาปรับทัศนคติ ที่ค่ายอภัยบริรักษ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เลยทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า คนที่ควรจะถูกปรับทัศนคติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาราคายาง น่าจะเป็น “รัฐบาล” มากกว่า
ก่อนอื่นรัฐบาลต้องแยกให้ออกว่า“ใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู” กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไม่ได้มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง เขาเรียกร้องเพราะเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำเท่านั้น คนใต้สนับสนุนรัฐบาลมีจำนวนมาก ไม่ควรมองว่าเป็นศัตรูและนำมาเข้าค่ายทหารปรับทัศนคติ แต่รัฐบาลเสียเองที่ต้องเป็นฝ่ายปรับทัศนคติ เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด
เรื่องที่รัฐบาลควรปรับทัศนคติก่อนเดินหน้าแก้ไขปัญหา
- “ราคายางพาราตกต่ำ ไม่ได้เป็นเพราะปลูกมาก ซื้อน้อย”
ข้อมูลสากลหลายแหล่งยืนยันถึงการใช้ยางพาราในโลกว่า “ความต้องการใช้ยางพารามีมากกว่ายางพาราที่ต้องการขายถึง 7 แสนตันต่อปี” - “ ราคายางพาราตกต่ำ ไม่ได้เกิดจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อยาง”
ประเทศผู้ซื้อยางพาราใหญ่ที่สุดในโลกคือจีน เศรษฐกิจของจีนไม่ได้อยู่ในขาลง แต่ยังอยู่ในขาขึ้น การคาดการณ์ตัวเลข GDP ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปีนี้จะอยู่ที่ 6.5% ยังเป็นการโตต่อเนื่องในอัตราที่สูง แม้จะโตน้อยกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 6.7 แต่ก็ยังถือว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนยังอยู่ในแดนบวกต่อเนื่องมาตลอด จึงไม่ใช่สาเหตุที่จีนจะชะลอการนำเข้ายางพารา จนเป็นเหตุให้ราคายางตกต่ำลง - “ราคายางพาราตกต่ำ ไม่ได้เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับราคาน้ำมันตกต่ำ”
เพราะแม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ จะใช้ยาง 2 ชนิดคือ ยางสังเคราะห์จากน้ำมันดิบ และยางพาราธรรมชาติ ซึ่งมีความพยายามอ้างกันว่า ผู้ผลิตอาจจะหันไปใช้ยางสังเคราะห์ จนทำให้ยางธรรมชาติราคาตกลงมานั้น แต่ในความเป็นจริง ยางรถยนต์ที่ใช้กัน จำเป็นต้องมีองค์ประกอบของยางธรรมชาติ เพราะยางที่สังเคราะห์จากน้ำมันดิบ ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
และหากจะเทียบความสัมพันธ์ระหว่างราคายางพารากับราคาน้ำมัน จะเห็นได้ว่า เมื่อต้นปีราคาน้ำมันอยู่ประมาณ 53 เหรียญต่อบาร์เรล และมาจนถึงขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ประมาณ 55 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนราคายางเมื่อต้นปี อยู่ประมาณ 80 บาท แต่ปัจจุบันราคาอยู่ประมาณ 40 บาท จะเห็นได้ว่าราคาไม่สัมพันธ์กันอย่างมีนัย
สำคัญ - “ยางพาราไม่ได้ปลูกกันง่ายๆ”
เพราะแม้ประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร จะมีภูมิอากาศที่ปลูกยางพาราได้ แต่ก็จำกัดได้ไม่กี่ประเทศ ตั้งแต่ตัดแอฟริกาออก เพาะปลูกยากเพราะแห้งแล้ง ตัดอเมริกาใต้ออก เพราะแถบบราซิลเค้าไปปลูกอ้อย พืชพลังงานทดแทนแล้ว เนื่องจากยางพาราแถวนั้นจะเป็นโรคตายกันมาก มันก็เหลือแถวเอเชียแปซิฟิกเรา ซึ่งมาเลเซียเค้าก็ไปเน้นปลูกปาล์มกันแล้ว จะเหลือเด็ดๆ ก็ ไทย อินโดนีเซีย - “ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุด”
ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 35 ของตลาดโลก ก็ควรจะใช้ศักยภาพกำหนดกลไกราคาในตลาดโลกกันบ้าง แต่ฝ่ายที่รับผิดชอบกลับคิดว่า มีประเทศผู้ผลิตเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจีนถดถอย รวมถึงมีการเก็งกำไรซื้อขายในตลาดล่วงหน้าทำให้ราคาผันผวน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ไทยเรานี่แหละมีศักยภาพดีที่สุดแล้ว ส่งออกก็สูงสุดในโลก ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า AFET ก็มีมากว่า 10 ปี เครื่องมือจัดการมีครบ ผมจึงขอให้ได้ปรับทัศนคติกันก่อนครับ
ผมอยากเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นดังนี้
- “ผนึกกำลังประเทศผู้ส่งออก ต่อรองราคาขายกับประเทศผู้ซื้อยางพารา”
ยางพาราเป็นเรื่องที่ระดับรัฐมนตรี หรือรัฐบาลควรมาดูแลด้วยตัวเอง ในอดีตที่ลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้เดินทางไปเจรจากับนายซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่เช่นกัน เพื่อขอให้เป็นแกนนำ ผนึกกำลังประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมถึงร้อยละ 75 ของตลาดโลก เพื่อรวมกลุ่มช่วยกันต่อรองราคากับประเทศผู้ซื้อยางพารา โดยไม่ต้องมาขายตัดราคากันเอง
นอกจากนั้น ยังมีการเจรจากับนายสี จิ้น ผิง ซึ่งต่อมาในปัจจุบันขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ช่วยซื้อยางจากประเทศไทย ซึ่งสัญญาณในขณะนั้น ทำให้ผู้ซื้อยางต้องซื้อยางเพื่อสต๊อกไว้ เพราะกลัวราคาขึ้นในภายหลัง จนท้ายที่สุดแล้ว ราคายางพาราในขณะนั้นพุ่งไปยืนที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม และบางช่วงทำสถิติสูงสุดถึง 180 บาทต่อกิโลกรัม จะเห็นได้ว่าการเอาใจใส่เดินสายเจรจา ราคาก็ขึ้นได้มาก- “ กำหนดมาตรการใช้ยางในประเทศ”
คือการนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมทำถนน ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้มีการกำหนดราคากลางรองรับไว้แล้ว โดยผิวทางลาดยางปกติแบบ Asphaltic Concrete อยู่ที่ 227 บาท ต่อตารางเมตร แต่ถ้าเป็นผิวทางลาดยางแบบยางพารา Para Asphalt Concrete จะอยู่ที่ 330 บาทต่อตารางเมตร ราคาห่างกันไม่มาก ยอมแพงกว่าเล็กน้อยแต่ได้คุณภาพดีขึ้น และชาวสวนยางก็ได้ขายของด้วย อีกทั้งประเทศผู้ซื้อจะได้รับรู้ หากไม่รีบซื้อ ไม่สู้ราคา ก็จะไม่ได้ยางพาราไปผลิตสินค้า ...อย่างไรก็ดีแม้รัฐบาลพยายามพูดเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็ไม่ปฏิบัติรับลูกกันจริงจัง ต้องจี้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทกันมากๆหน่อยในเรื่องนี้- “ชวนบิ๊กผู้ผลิตยางรถยนต์ ตั้งฐานการผลิตในไทย”
จากแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) เพื่อเปิดให้มีการลงทุนสร้างฐานการผลิต ทางรัฐบาลไทยอาจใช้โอกาสนี้ ทาบทามผู้ประกอบการผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อย่าง Bridgestone, Michelin, หรือ Goodyear มาตั้งฐานการผลิตใหญ่ในประเทศไทยก็ได้
และดูจากปัจจัยขณะนี้ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมืออย่างการยางแห่งประเทศไทย ที่ควบรวมกองทุนสวนยาง องค์กรสวนยาง และสถาบันวิจัยยางมาไว้ด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาโดยเฉพาะแล้ว ก็เหลือแต่การให้ความสำคัญของระดับผู้บริหารประเทศ ที่ต้องวางทิศทางกำหนดนโยบายหากจะช่วยชาวสวนยาง ต้องช่วยให้จริง ขีดเส้นใต้ห้าร้อยครั้ง ขอให้ “ลงรายละเอียด” บางปีมาช่วยอุ้มราคาก็มาอุ้มตอน“ปิดกรีด”เป็นช่วงที่เขาพักต้นยางพาราตามฤดูกาล ราคาที่ขึ้นไปใครได้ประโยชน์กันครับ จึงฝากเรื่องข้างต้นไว้ เพื่อแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เช่น การเจรจาประเทศผู้ขายไม่ให้ขายแข่งราคาคุยประเทศผู้ซื้อ ชักชวนบริษัทผลิตยางยักษ์ใหญ่มาลงทุนในประเทศ หรือนำยางพารามาผสมทำผิวถนน
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะขอย้ำให้รัฐบาลปรับทัศนคติเสียใหม่ ว่าเกษตรกรชาวสวนยางที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ได้มีเจตนาหรือได้รับการสนับสนุน
จากพรรคการเมือง ไม่ได้มีเจตนาที่จะเป็นเหตุให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เค้าออกมาเรียกร้องเพื่อปากท้อง ออกมาเรียกร้องเพื่อครอบครัว ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาการเกษตรตกต่ำ ที่รัฐบาลเองต้องดำเนินการช่วยเหลืออย่างมีกลยุทธ์และยั่งยืน